...

เทศกาลเข้าพรรษา











องค์ความรู้ เรื่อง  เทศกาลเข้าพรรษา
 วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ (หลังวันอาสาฬหบูชา ๑ วัน) ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ 
 คำว่า “เข้าพรรษา” หมายถึง พักฝน เป็นวันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะหยุดพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝน เป็นเวลา ๓ เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ กำหนดวันเข้าพรรษาแบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ
 ปุริมพรรษา คือ พรรษาต้น เป็นช่วงระยะเวลาที่พระสงฆ์เข้าอยู่พรรษาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
 ปัจฉิมพรรษา คือ พรรษาหลัง เป็นช่วงระยะเวลาที่พระสงฆ์เข้าอยู่พรรษาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
 เหตุที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการจำพรรษา เนื่องจากในสมัยพุทธกาล ชาวบ้านติเตียนกันว่า พวกสาวกของพระพุทธองค์ไม่หยุดสัญจรไปมาแม้กระทั่งในฤดูฝน ทำให้เหยียบย่ำข้าวกล้าที่ชาวบ้านเพิ่งลงมือหว่านไถเพาะปลูกเสียหาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงได้วางระเบียบให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝนเป็นเวลา ๓ เดือน เรียกกันทั่วไปว่า “เข้าพรรษา” ชาวบ้านจึงถือโอกาสนี้เข้าวัดทำบุญถวายเครื่องไทยทานที่จำเป็นแก่พระสงฆ์ รวมทั้งรักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนาตั้งมั่นประกอบคุณงามความดี
 ประเพณีทำบุญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ปรากฏหลักฐานนับแต่สมัยสุโขทัย โดยจารึกหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุว่า พระมหากษัตริย์ ขุนนาง และราษฎรร่วมกันถือศีลบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า 
 “พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน”
 ในสมัยอยุธยา เอกสารประวัติศาสตร์ เรื่อง คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงการพระราชกุศลต่างๆ ในระหว่างเข้าพรรษา พระมหากษัตริย์ทรงสมาทานอุโบสถศีล เดือนละ ๘ ครั้ง 
 ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในวรรณกรรม เรื่อง นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของข้าราชการฝ่ายใน ตลอดจนพระราชประเพณีต่าง ๆ ใน ๑๒ เดือน เฉพาะประเพณีเข้าพรรษาอยู่ในเดือน ๘ รวมทั้งพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายและพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีเข้าพรรษา ในหัวข้อเรื่อง “พระราชพิธีเดือนแปด”
 ปัจจุบันการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ยังมีประเพณีสำคัญที่คงถือปฏิบัติสืบต่อมา คือ
 ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ดังเช่นปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็น การศึกษาพระปริยัติธรรม ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้จำเป็นต้องใช้แสงสว่าง ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนจึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ตั้งขบวนแห่ไปถวายพระอาราม เรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา” มีความเชื่อว่าอานิสงส์การถวายเทียนจำนำพรรษาจะทำให้เป็นผู้มีสติปัญญาดี สว่างไสวดั่งแสงเทียน
 ปัจจุบัน มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่มีชื่อเสียงหลายจังหวัด เช่น อุบลราชธานี นครราชสีมา นครพนม และสุพรรณบุรี เป็นต้น
 ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน ประเพณีนี้เกิดขึ้นแต่ครั้งพุทธกาลคือ มหาอุบาสิกาชื่อ นางวิสาขา ได้ทูลขออนุญาตพระพุทธองค์ให้พระสงฆ์มีผ้าอาบน้ำฝน เพื่อผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำในระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงนับเป็นสตรีคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
 ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่มีตำนานมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความเชื่อกันว่า การตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ที่สูงส่งอย่างยิ่ง จะทำให้ชีวิตมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ปัจจุบันเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติที่วัดหลายแห่ง เช่น วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ส่วนดอกไม้ที่นำมาถวายพระสงฆ์ เพื่อนำไปสักการะรอยพระพุทธบาทก็เป็นดอกไม้ท้องถิ่นที่ออกดอกในช่วงเวลานี้พอดี คือ “ดอกหงส์เหิน” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “ดอกเข้าพรรษา”
 อนึ่ง ก่อนเทศกาลเข้าพรรษาและเวียนเทียนนั้น มีธรรมเนียมประเพณีที่กุลบุตรอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จะอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา เพื่อศึกษาพระธรรมในช่วงเวลาเข้าพรรษา ส่วนพุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญที่วัด รับอุโบสถศีล ฟังพระธรรมเทศนา รวมทั้งยังปวารณาตั้งมั่นบำเพ็ญคุณความดีในเทศกาลเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือน เช่น งดดื่มเหล้ารวมทั้งละเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้น
 เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาและการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมอัญเชิญพระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งโอสถในคติพุทธศาสนานิกายมหายาน ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ๒๑ แห่ง ระหว่างวันพุธที่ ๑ กรกฎาคม – วันศุกร์ที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ เพื่อให้ประชาชนสักการบูชาสร้างขวัญกำลังใจให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยในส่วนกลาง อัญเชิญพระไภษัชยคุรุ ๖ องค์ ประดิษฐานให้ประชาชนสักการะ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๖๓ 
 วันจันทร์ที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์หล่อเทียนพรรษา จำนวน ๑๐ ต้น ณ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้หน่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่ายร่วมเป็นเจ้าภาพนำเทียนพรรษาไปถวายพระอาราม จำนวน ๑๐ แห่ง ได้แก่ ๑. วัดพรหมวงศาราม เขตดินแดง ๒. วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน ๓. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร ๔. วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เขตห้วยขวาง ๕. วัดเทพลีลา เขตบางกะปิ ๖. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร ๗. วัดชัยพฤกษมาลา เขตตลิ่งชัน ๘. วัดเสมียนนารี เขตหลักสี่ ๙. วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ ๑๐. วัดสามพระยา เขตพระนคร
 วันศุกร์ที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษา ณ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม 
 ส่วนกรมศิลปากร ในวันนี้ ( ๖ ก.ค. ๒๕๖๓) เวลา ๑๓.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานการถวายเทียนพรรษาและเครื่องสังฆทานของกรมศิลปากร เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ประจำปี ๒๕๖๓ แด่พระธรรมปัญญาบดี (พีร์ สุชาโต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 
.......................................................................
อรวรรณ ทรัพย์พลอย
นักอักษรศาสตร์เชี่ยวชาญ
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์
(ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี)
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ค้นคว้าเรียบเรียง
....................
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เทศกาลเข้าพรรษา วัดสระกระเทียม
เครดิตภาพ ธวัชชัย รามนัฏ

(จำนวนผู้เข้าชม 5857 ครั้ง)