...

เจดีย์ทรงระฆังสกุลช่างกำแพงเพชร
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เรื่อง เจดีย์ทรงระฆังสกุลช่างกำแพงเพชร
เจดีย์ เป็นชื่อเรียกสิ่งก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรมไทย และสร้างเป็นประธานหรือบริเวณกึ่งกลางของวัดในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า คำว่า “เจดีย์” มาจากคำว่า “เจติยะ” ในภาษาบาลี หรือ “ไจตย” ในภาษาสันสกฤต หมายถึง สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง โดยตำราในพุทธศาสนากำหนดเจดีย์ไว้ ๔ ประเภท ได้แก่
๑. ธาตุเจดีย์ หมายถึง สิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สถูป
๒. บริโภคเจดีย์ หมายถึง สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เป็นที่ระลึกถึงพระองค์เมื่อปรินิพพานแล้ว ได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งสวนลุมพินีที่ประสูติ อุรุเวลาเสนานิคมที่ตรัสรู้ ป่าอิสิตปตนมฤคทายวันแสดงปฐมเทศนา และสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ที่ปรินิพพานต่อมาได้เพิ่มสถานที่ที่แสดงปาฏิหาริย์อีก ๔ แห่งได้แก่ เมืองสังกัสสะที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมืองสาวัตถีที่ทำยมกปาฏิหาริย์ เมืองราชคฤห์ ที่ทรมานช้างนาฬาคีรี และเมืองเวสาลีที่ทรงทรมานพญาวานร
๓. ธรรมเจดีย์ หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนทั้งมวลของพระพุทธเจ้า เช่น พระไตรปิฎก
๔. อุเทสิกะเจดีย์ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้า เช่น พระพิมพ์ดินเผา พุทธบัลลังก์
เพราะฉะนั้นคำว่า “เจดีย์” ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยจึงหมายถึงธาตุเจดีย์หรือพระสถูปมีรูปทรงที่หลากหลายทั้งเจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงปรางค์ หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งภายในเจดีย์ประดิษฐานสิ่งที่เคารพบูชา ทั้งพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุอรหันต์ พระบรมอัฐิและพระสรีรางคารของพระมหากษัตริย์ และต่อมาภายหลังจึงมีการอนุโลมบรรจุอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ หรืออัฐิของบุคคลทั่วไปด้วย
สถูปหรือเจดีย์น่าจะมาจากลักษณะของเนินดินเหนือหลุมฝังศพตรงที่ฝังอัฐิธาตุในอินเดียแล้วจึงมีการพัฒนารูปแบบให้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ถาวรขึ้น เป็นสถูปทรงโอคว่ำตั้งอยู่บนฐานและมีฉัตรปักเป็นยอด ปรากฏในศิลปะอินเดียโบราณ ตัวอย่างสถูปที่เมืองสาญจี และได้ส่งอิทธิพลรูปแบบดังกล่าวผ่านความเชื่อด้านพุทธศาสนามายังดินแดนอื่น ๆ ทั้งศรีลังกาและสุโขทัยตามลำดับ และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละบ้านเมือง โดยในศรีลังกา สถูปรุวันเวลิ ศิลปะอนุราธปุระ ยังคงปรากฏสถูปที่มีองค์องค์ระฆังทรงโอคว่ำขนาดใหญ่และเมื่อบ้านเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชรรับความเชื่อทางพุทธศาสนามาพร้อมกับรูปแบบทางศิลปกรรม เจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้องค์ระฆังมีขนาดเล็กลงและมีรูปแบบเฉพาะได้แก่ ส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดบัวถลาหรือส่วนบัวคว่ำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจำนวน ๓ ชั้น
รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังที่เมืองกำแพงเพชร มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม มีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัย คือ พบส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดบัวถลา แต่ส่วนฐานของเจดีย์ถัดลงมาจากชุดบัวถลานิยมสร้างเป็นฐานบัวในผังแปดเหลี่ยม พบทั้งที่เป็นเจดีย์ประธานและเจดีย์บริวารของโบราณสถาน
เจดีย์ทรงระฆังฐานบัวแปดเหลี่ยม ๑ ชั้น พบที่โบราณสถานวัดพระนอน ปรากฏเจดีย์ประธานรูปแบบฐานบัวแปดเหลี่ยมประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ขนาดใหญ่ที่ท้องไม้ แล้วจึงเป็นชุดรับรอบองค์ระฆังเป็นชุดบัวถลา โบราณสถานวัดป่ามืด เจดีย์ประธานฐานบัวแปดเหลี่ยมและชุดบัวถลา
โบราณสถานวัดช้าง ปรากฏเจดีย์ประธานที่เป็นฐานบัวแปดเหลี่ยม ประดับบัวลูกฟัก ๑ ชั้นและชุดบัวถลาแล้ว ยังพบว่าฐานมีประติมากรรมช้างปูนปั้นตั้งอยู่โดยรอบฐานล่างสุด
เจดีย์ทรงระฆังฐานบัวแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้น พบที่โบราณสถานวัดพระธาตุ เจดีย์ประธานพบฐานบัวแปดเหลี่ยมฐานชั้นแรกประดับบัวลูกแก้วอกไก่ขนาดใหญ่ ๑ เส้น และฐานบัวแปดเหลี่ยมชั้นที่สองประดับบัวลูกแก้วอกไก่ขนาดเล็ก ๒ เส้น และเป็นชุดบัวถลา
โบราณสถานวัดดงหวาย เจดีย์ประธานพบฐานบัวแปดเหลี่ยมชั้นแรกประดับลูกฟัก ๒ เส้น ฐานบัวชั้นที่สองประดับลูกฟัก ๑ เส้น ต่อด้วยฐานบัวผังกลม แล้วต่อด้วยชุดบัวถลา
นอกจากนี้ยังพบเจดีย์รูปแบบดังกล่าวเป็นเจดีย์บริวารที่โบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ด้านทิศตะวันออกของวัด มีรูปแบบฐานบัวแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้นแล้วเป็นชุดบัวถลา
จากตัวอย่างรูปแบบเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมที่พบในเมืองกำแพงเพชร เป็นรูปแบบทางศิลปกรรมเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัยที่นิยมสร้างชุดบัวถลาเพื่อรองรับองค์ระฆัง แต่เมืองกำแพงเพชรมีการปรับเปลี่ยนด้วยการใช้ฐานบัวแปดเหลี่ยมเป็นส่วนฐานของเจดีย์ และสันนิษฐานว่าฐานบัวในผังแปดเหลี่ยมที่มีการประดับลูกแก้วอกไก่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ดังนั้นรูปแบบเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมที่เมืองกำแพงเพชร น่าจะเป็นเจดีย์ที่ได้รับรูปแบบมาจากศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนา ตามตำแหน่งที่ตั้งของเมืองที่สามารถติดต่อและรับรูปแบบศิลปกรรมได้จากบ้านเมืองทั้งสองแห่ง
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. สถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๘.
เชษฐ์ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
ธัญลักษณ์ เจี่ยรุ่งโรจน์. เจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมเมืองกำแพงเพชร : วิเคราะห์รูปแบบและความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๙)
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๔.
สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕ .กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒.
สุภัทรดิศดิศกุล. ม.จ. ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย, ลังกา, ชวา, จาม, ขอม, พม่า, ลาว. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๓.



















(จำนวนผู้เข้าชม 2962 ครั้ง)