...

ขอเชิญชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน”
          กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ระหว่างวันที่ ๑๕ พฤษภาคม - ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
          ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นหนึ่งในความทุกข์ ๔ ประการของมนุษย์ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้คนต่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วย่อมสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจต่อตัวผู้ป่วยเอง จนต้องหาหนทางบำบัดรักษาให้หายจากโรคภัยนั้น แต่ถ้าหากโรคภัยเกิดขึ้นกับคนในสังคมพร้อม ๆ กัน ย่อมต้องมีความอลหม่าน วุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าเราเรียนรู้ว่าโรคระบาดได้สร้างความเจ็บป่วยล้มตายแก่คนในสังคมมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันระบบสาธารณสุข มีการพัฒนาสามารถควบคุมและจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “โรคระบาด” จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ( Covid-19) สร้างวิกฤติให้กับประชากรโลกตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อสู้โรคขนานใหญ่ องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคในอดีตถูกพลิกฟื้น ควบคู่ไปกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตยารักษา และวัคซีนป้องกันโรค มุ่งหมายเพื่อหาแนวทางการบำบัดแก้ไขโรคร้ายให้คลายลง
          ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์พยายามแสวงหาหนทางให้พ้นจากโรค ไม่ว่าจะด้วยสัญชาตญาณ การสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์ การลองผิดลองถูก จนสั่งสมขึ้นเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในการรักษาโรค ซึ่งมีทั้งการรักษาเยียวยาทางกาย และจิตใจ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และยังคงต้องคิดหาหนทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ หากเราได้ศึกษาเรียนรู้โรคภัย ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรค ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่อันสำคัญของแต่ละบุคคล ชุมชน รัฐ และผู้นำ ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต นำมาวิเคราะห์ ปรับใช้ ในการจัดการของทุกภาคส่วนของสังคมมนุษย์ก็อาจผจญกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างเท่าทัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
          เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจโรคระบาดที่ประชากรโลกกำลังเผชิญอยู่ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” อันหมายถึงความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค ประกอบด้วยหัวข้อ มนุษย์กับโรคภัย นำเสนอเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ โรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดี นำเสนอโรคต่าง ๆ ที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งทางด้านโบราณคดี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จารึก และบันทึกต่าง ๆ ศาสตร์แห่งการรักษา นำเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีวิธีอธิบายสมุฏฐานและวิธีบำบัดโรคมากกว่าหนึ่งวิธีได้แก่ ศาสตร์ด้านความเชื่อ ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และศาสตร์ด้านการแพทย์แผนตะวันตก และสังคมระดมปัญญา สู่ชีวิตวิถีใหม่ นำเสนอการจัดการวิกฤติโรคระบาดในสังคมไทยให้ผ่านพ้นจากโรคร้ายด้วยพลังของทุกภาคส่วนในสังคม
          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม จนถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)


คัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษ
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
          พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภนและหลวงสารประเสริฐทรงชำระและชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้มาจากห้องสมุดกรมศึกษาธิการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สมุดไทยดำ อักษรขอมปนไทย เส้นชุบทอง ประกอบด้วยแผนภาพฝีดาษประจำ ๑๒ เดือน วิธีการรักษา พร้อมทั้งตำรับยาในการรักษาอาการระดับต่างๆ (ยามหาระงับ เอก โท) รวมไปถึงการอธิบายลักษณะของฝีขึ้นวันกำเนิดเป็นฝีร้ายและลักษณะฝีที่ขึ้น


เครื่องประดับข้อพระกร
ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา หอยเบี้ยจั่นพร้อมตลับและสายสร้อยข้อมือทองคำ พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สันนิษฐานว่าเป็นการนำหอยเบี้ยมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เนื่องด้วยหอยเบี้ยมีตลับปิดมิดชิด ในศาสนาฮินดูใช้หอยเบี้ยจั่นเป็นตัวแทนพระลักษมีในการบูชาพระนาง โดยที่พระนางลักษมี เป็นเทวีแห่งโชคลาภ การบูชาด้วยเบี้ยจั่นจึงถือว่าทำให้เกิดความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ปกติแล้วเบี้ยจั่นใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนซื้อขายมาแต่โบราณ โดยใช้เป็นเงินปลีก ตัวตัวอย่างจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ ๑ พ.ศ. ๑๙๐๔ กล่าวถึงการบำเพ็ญทานฉลองพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า “แล้วกระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน หมากสิบล้าน ผ้าจีวรสี่ร้อย บาตรีสี่ร้อย หมอนนั่งสี่ร้อย หมอนนอนสี่ร้อย...”


สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร หนังสือสมุดไทยขาว หมวดเวชศาสตร์ เลขที่ ๑๐๒ เขียนภาพลงสี ลักษณะแม่ซื้อประจำวันต่างๆ และลำบองราหู ลักษณะที่เกิด พร้อมทั้งวิธีแก้ บรรยายภาพด้วยอักษรไทย ลายเส้นสีดำ จิตรกรรมลำบองราหู ที่ปรากฏในสมุดไทยเล่มนี้ เป็นรูปอมนุษย์ ที่แสดงลักษณะอาการของโรคในเด็กทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบขวบปี โดยความเจ็บไข้ของเด็กในช่วงปีแรกเกิดขึ้นเพราะอำนาจของลำบองราหู ที่มีอาการและรูปลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน รูปลักษณ์ของลำบองราหูจึงปรากฏการใช้สัญลักษณ์ประจำจักรราศี (๑๒ ราศี) มาเป็นองค์ประกอบของรูปเพื่อสื่อความหมายถึงโรคภัยในเดือนนั้นๆ ด้วย ภาพลำบองราหูที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทยขาวเล่มนี้ มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรลำบองราหู บริเวณคอสองเฉลียงศาลาราย (ศาลาแม่ซื้อ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร


พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ นายเสียง ปาลวัฒน์ (เป้า) สร้างอุทิศให้นายสำรวย ปาลวัฒน์ (บุตร) รูปเคารพทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่มีเค้าลางเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ เรียกว่า พระช่วยชีพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงจีวรลายดอก ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ถือเป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่นิยมสร้างเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการเว้นที่ว่างสำหรับจารคำอธิษฐาน ขออำนาจพุทธเทวดาบันดาลให้บุตรหายป่วย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการต่ออายุด้วยการอุทิศรูปเคารพ ในลักษณะเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปถวายเจ้านายพระองค์สำคัญอย่าง พระนิรโรคันตราย พระพุทธนิรโรคันตราย หรือ พระพุทธศรีสงขลานครินทร์


พระกริ่งบาเก็ง
ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม พระเครื่องจำลองรูปพระไภษัชยคุรุ นิยมนำไปใส่ลงในภาชนะเพื่อทำน้ำมนต์ สำหรับดื่มชำระโรคภัยและใช้ประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล มีต้นแบบสำคัญอยู่ในประเทศทิเบต แล้วแพร่หลายต่อไปยังประเทศจีน โดยพระกริ่งกลุ่มนี้พบบนเขาพนมบาเก็ง ประเทศกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ทั้งนี้ แม้ความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคจะถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการใช้ประพรมก็ตาม แต่อำนาจพุทธคุณของพระกริ่งยังคงเป็นที่นับถือสืบมาจนปัจจุบัน


แท่นหินบดยา มีจารึกเยธมฺมาฯ
ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พบที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๕๐๗ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ แท่นหินบดยา พบเหลือครึ่งแท่นตามแนวขวาง ใต้แท่นหินบดยา มีคาถา เยธมฺมาฯ จำนวน ๕ บรรทัด อักษร ปัลลวะ ภาษาบาลี นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) ได้อธิบายว่า การนำคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาจารึกบนแท่นหินบดยาจะทำให้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะพ้นจากโรคคือการพ้นจากทุกข์ ปัจจุบันพบแท่นหินบดยาที่มีจารึกคาถาเยธมฺมาเพียง ๒ ชิ้น จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในสมัยทวารวดีที่มีต่อพระพุทธศาสนาและปรุงยารักษาโรค


หน้ากากให้ยาสลบแบบชิมเมลบุช สเตนเลส
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
หน้ากากชิมเมลบุช เป็นเครื่องมือทางวิสัญญีวิทยา ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2433 โดย นพ.เคอร์ท ชิมเมลบุช ศัลยกรรมชาวเยอรมัน มีลักษณะเป็นตะแกรงหน้ากากโปร่ง หุ้มด้วยผ้าสำสีหรือผ้าก็อซสำหรับหยดยาสลบ แล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดม ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ยุคเริ่มแรกสำหรับการผ่าตัดภายในโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ศัลยแพทย์ในการผ่าตัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยได้อย่างดี


ประติมากรรมฤาษีดัดตน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณ และศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนของโยคีอินเดียที่เป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง และแก้ปวดเมื่อย ปั้นด้วยดินเป็นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อชิน


ปืนกลพระสุบินบันดาล
ศิลปะรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๔) คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น ตามที่ทรงพระสุบินว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปืนตามกระแสพระสุบิน เมื่อสร้างเสร็จ ทอดพระเนตรแล้วก็รับสั่งว่าไม่เหมือนที่ทรงพระสุบิน แต่ยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่า “พระสุบินบันดาล”

(จำนวนผู้เข้าชม 2450 ครั้ง)