...

จารึกสมัยล้านนา
จารึกสมัยล้านนา 
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย 
ที่อายุมากที่สุด และน้อยที่สุด 
....พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการเก็บรวรวมศิลาจารึกไว้เป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย และจารึกอักษรฝักขามสมัยล้านนา ที่มีประวัติการพบในจังหวัดลำพูน จำนวนทั้งสิ้น ๒๐ หลัก นอกจากนี้แล้วจังหวัดลำพูนยังเป็นที่พบจารึกวัดพระยืน ที่เป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา ซึ่งเป็นต้นแบบให้อักษรฝักขามในจารึกล้านนาต่อมา 
....จารึกสมัยล้านนที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีประวัติการพบในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐ หลัก ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นแผ่นทรงใบเสมาคล้ายกับจารึกอักษรมอญโบราณสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ที่พบในเมืองลำพูน แต่มีขนาดที่บางและเล็กกว่า ตัวอักษรที่จารึกเป็นอักษรฝักขาม หรืออักษรไทยล้านนา ที่มีพัฒนาการมาจากตัวอักษไทยสมัยสุโขทัย รัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ที่ปรากฏในจารึกวัดพระยืน พ.ศ. ๑๙๑๓ ซึ่งจารึกอักษไทยล้านนา หรือจารึกอักษรฝักขามที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยล้านนาคือจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย พ.ศ. ๑๙๕๔ (ลพ.๙) ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน สำหรับจารึกสมัยล้านนาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ที่มีระบุศักราชมีอายุมากที่สุดคือศิลาจารึก จ.ศ. ๘๒๙ ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๑๐ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช แต่น่าเสียดายที่จารึกพบเพียงส่วนบน ไม่พบเนื้อหาอื่นๆ ที่จะบอกเรื่องราวได้ ส่วนจารึกสมัยล้านนา อักษรไทยล้านนา (ฝักขาม) ที่มีอายุน้อยที่สุดคือจารึกวัดต้นผึ้ง (ลพ.๘) ระบุจุลศักราช ๑๙๘๗ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๐๕๙ ตอนปลายรัชสมัยพระเมืองแก้ว 
...จารึกสมัยล้านนา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีอายุตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าติโลกราช พระยอดเชียงราย สิ้นสุดที่สมัยพระเมืองแก้ว มีเนื้อหากล่าวถึงการกัลปนาสิ่งของ การสร้างอาราม การถวายข้าคน เงินทองสำหรับอาราม พร้อมทั้งปรากฏชื่อพระภิกษุสงฆ์ บุคคล แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่เป็นยุคทองของล้านนา มีการปฏิสังขรณ์และสร้างพระอาราม รวมถึงศาสนวัตถุต่างๆขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว หลังจากนั้นไม่พบจารึกสมัยล้านนาในบริเวณจังหวัดลำพูน คาดว่าอาจเสื่อมความนิยมไปแทนที่ด้วยการใช้อักษรประเภทอื่นๆที่เข้ามาแทนที่ รวมไปถึงการสร้างงานศิลปกรรมในช่วงปลายสมัยราชวงศ์มังรายที่น้อยลงทั้งในตัวเมืองเชียงใหม่และลำพูน อันเป็นผลมาจากความวุ่นวายภายในราชสำนัก จนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าบุเรงนองในที่สุด 
อ้างอิง
กรมศิลปากร. แบบเรียนหนังสือภาษาโบราณ.  กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๓.
จำปา เยื้องเจริญ. วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
สรัสวดี อ๋องสกุล. กษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๖๐.







(จำนวนผู้เข้าชม 1517 ครั้ง)