...

กำไลกระพรวนสำริด
กำไลกระพรวนสำริด แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ จังหวัดลำพูน 
+++กำไลกระพรวน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐.๕ ซ.ม.มีลักษณะเป็นวงกลม ล้อมรอบด้วยลูกกระพรวนขนาดเล็ก มีลูกกลิ้งด้านในที่ทำให้เกิดเสียง มีลูกกระพรวนที่มีลวดลายเป็นลายขูดเป็นวงซ้อนกันเส้นเล็ก ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พบในหลุมฝังศพผู้ใหญ่ฝังในลักษณะนอนเหยียดยาว กำไลสวมอยู่ที่แขนซ้าย นอกจากกำไลแล้วยังพบตุ้มหูแก้ววางที่ข้างศีรษะ เป็นที่น่าเสียดายว่าสภาพโครงกระดูกเสื่อมไปทำให้ไม่สามารถศึกษาถึงเพศของผู้ตายได้ 
+++กำไลกระพรวน พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงปลาย เช่น ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นกำไลทรงกระบอกที่ตกแต่งด้วยกระพรวนโดยรอบ กรรรมวีการผลิตนั้น คงเป็นวิธีที่ใช้ในการหล่อสำริดทั่วไปคือวิธีการหล่อแบบขับขี้ผึ้ง (lost wax) หมายถึงวิธีการหล่อโลหะชนิดหนึ่งโดยให้ของเหลวไหลตามแม่พิมพ์ที่มีรูปร่างซับซ้อน มีวิธีการและเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความสามารถขั้นสูง ซึ่งเครื่องประดับสำริดที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮอาจใช้วิธีเดียวกัน จากการศึกษารายงานการขุดค้นทางโบราณคดีถึงแม้จะพบเครื่องประดับสำริด และเครื่องมือเหล็ก กลับไม่พบโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับการหล่อโลหะอื่นใดเลย นอกจากขี้แร่ (slag) เท่านั้น ซึ่งไม่อาจบอกได้ถึงกระบวนการผลิตเครื่องใช้ดังกล่าว 
+++นอกจากแหล่งโบราณดดีบ้านวังไฮ ยังพบกำไลกระพรวน สำริดลักษณะนี้ จากแหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำกวง อาจมีคสามสัมพันธ์กันกับชุมชนบ้านวังไฮที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำกวงตอนปลาย อันเป็นชุมชนโบราณก่อนการตั้งเมืองหริภุญไชย 
เอกสารอ้างอิง
วิชัย ตันกิตติกร. แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๒.
สุรพล นาถะพินธุ. "โบราณวิทยาเรื่องโลหะสำริดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย." ดำรงวิชาการ ปีที่ ๑๓, ฉบับที่ ๑ (๒๐๑๔)  มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๗: ๑๐๗-๑๓๒.






(จำนวนผู้เข้าชม 1730 ครั้ง)