...

ความเชื่อเรื่องชุธาตุของชาวล้านนา
ความเชื่อเรื่อง ชุธาตุ ของชาวล้านนา ที่มีความเชื่อว่าก่อนที่มนุษย์จะมาเกิดในครรภ์มารดา ได้เคยสถิตอยู่กับต้นไม้ซึ่งมีภูตผีหรือสัตว์รักษาอยู่ แต่ด้วยความไม่เหมาะสมที่วิญญาณของมนุษย์จะอยู่กับอมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย จึงได้ลาไปจากต้นไม้ดังกล่าว แล้วดวงจิตได้ไปสถิตอยู่ที่พระธาตุ ต่างๆ ก่อนที่จะถือกำ เนิดเชื่อว่าดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิดสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันตามแต่ละปีนักษัตร การได้สักการะบูชาหรือไปแสวงบุญยังพระธาตุประจำ ปีนักษัตรของตนจึงจะนำ มาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นปีฉลู หรือปีวัว ภาษาเหนือเรียกว่าปีเป้า 
___สำหรับชุธาตุ หรือพระธาตุประจำปีเกิดของปีฉลูนั้น คือพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นเป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ตั้งอยู่บนม่อนหรือเนินดินล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองและคูน้ำ ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงกล่าวถึงมหาราชเทวี อันหมายถึงพระราชชนนีของพระยาสามฝั่งแกน ได้เสด็จมายังลัมภกัปปนครได้ทอดพะเนตรเห็นพระธาตุแสดงปาฏิหาริย์จึงเสด็จไปทรงนมัสการพระธาตุแห่งนี้ ต่อมา หมื่นหาญแต่ท้องซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าติโลกราช ได้ขอพระราชานุญาตสร้างวัดแห่งนี้ ทั้งข้อมูลจากหลักฐานประเภทจารึกและเอกสารต่างกล่าวถึงศาสนสถานต่างๆที่สร้างขึ้นในสมัยของหมื่นหาญแต่ท้องตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา  
___พระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่ภายในเขตพุทธาวาส พื้นเป็นลานทราย ล้อมรอบด้วยวิหารและระเบียงคดแสดงถึงคติจักรวาลของล้านนาโดยมีพระธาตุเป็นศูนย์กลาง รูปแบบของเจดีย์นั้น หุ้มด้วยแผ่นโลหะทั้งอค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประกอบด้วยฐานเป็นฐานบัวย่อเก็จ ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาบัวถลาซ้อนกัน ๓ ชั้น อันเป็นอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยแพร่หลายขึ้นมายังล้านนาเมื่อคราวพระสุมนเถระขึ้นมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่บัวปากระฆังตกแต่งเป็นลายกลีบบัวมีเกสร ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังประดับด้วยประจำยามรัดอกดุนเป็นลวดลาย เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยบัวฝาละมีประดับลายฉลุห้อยลงมาคล้ายฉัตรต่อด้วยปล้องไฉน ปลียอดตามลำดับ
___นอกจากพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ภายในวัดยังมีปูชนียวัตถุสำคัญคือพระเจ้าทองทิพย์ประดิษฐานภายในโขงทรงปราสาทภายในพระวิหารหลวงที่อยู่ด้านหน้าพระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้อีกด้วย













(จำนวนผู้เข้าชม 4072 ครั้ง)