...

พระพุทธรูปนั่งปางแสดงธรรม
พระพุทธรูปนั่งปางแสดงธรรม มีพระมัสสุ 
สำริด สูง ๒๓ เซนติเมตร
ศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว)
พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพุทธรูปนั่ง ปางแสดงธรรม พระเศียรใหญ่ พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกใหญ่งุ้ม พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์หนาอมยิ้ม มีพระมัสสุอยู่เหนือขอบพระโอษฐ์ พระกรรณยาวเจาะเป็นช่อง เม็ดพระศกเล็ก พระอุษณีษะทรงกรวย พระรัศมีรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง จีวรเรียบบางแนบพระวรกาย ขอบสบงเป็นแนวที่บั้นพระองค์ มีชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระ แสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นยึดชายจีวรไว้เหนือระดับพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบอย่างหลวมๆ พระบาทซ้ายอยู่บนพระบาทขวา
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงถึงสุนทรียภาพและความนิยมแบบพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดี ได้แก่ พระขนงที่ต่อกันเป็นรูปปีกกา และการแสดงวิตรรกะมุทรา เริ่มปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรขึ้น เห็นได้จากรูปแบบพระพักตร์สี่เหลี่ยม และพระพุทธรูปมีพระมัสสุเหนือขอบพระโอษฐ์ นอกจากนั้นรูปแบบพระรัศมีและสังฆาฏิที่พาดเหนือพระอังสาซ้ายนั้น เป็นอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบปาละ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ (ประมาณ ๙๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ดังนั้นจึงอาจกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว)
การทำพระมัสสุหรือไรมัสสุ ในประติมากรรมสมัยทวารวดี น่าจะได้รับอิทธิพลโดยตรงจากศิลปะเขมร เนื่องจากการทำพระมัสสุนั้นมักปรากฏในกลุ่มเทวรูป และประติมากรรมภาพบุคคลหรือยักษ์ เริ่มตั้งแต่ศิลปะเขมร สมัยบาแค็ง (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว) เป็นต้นมา ทั้งนี้นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า การทำพระมัสสุหรือไรมัสสุในพระพุทธรูป อาจเกิดจากความเคยชินของช่างในการสร้างประติมากรรมที่เป็นเทวรูปก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.
พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 1336 ครั้ง)