...

ลวดลายเรือที่ปรากฏบนกลองมโหระทึกที่พบในจังหวัดมุกดาหาร
ลวดลายเรือที่ปรากฏบนกลองมโหระทึกที่พบในจังหวัดมุกดาหาร
เมื่อ พ.ศ.2563 สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ได้พบกลองมโหระทึกที่บ้านโพน อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร บริเวณไหล่กลองปรากฏลวดลายเรือจำนวน 6 ลำ แต่ละลำมีรูปบุคคลแบบนามธรรมนั่งอยู่ในเรือและมีบุคคลถือไม้พายอยู่บริเวณท้ายเรือ ซึ่งลวดลายเรือแบบนี้ได้พบบนกลองมโหระทึกในจีนตอนใต้และเวียดนามเหนือ จึงมีนักวิชาการตีความหมายไว้มากมาย เช่น อาจเป็นเทศกาลแข่งเรือ พิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำ และพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย แต่อย่างไรก็ตามลวดลายเรือนี้ก็แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตเกี่ยวกับสายน้ำของกลุ่มคน “เยว่”(Yue) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้กลองมโหระทึกนี้ด้วย
“เยว่”(Yue) เป็นชื่อที่กลุ่มคนจากพื้นที่ภาคเหนือของจีน (กลุ่มคนฮั่น) ใช้เรียกกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณทางภาคใต้ของประเทศจีน ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลของเมืองเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกว่างตง ยาวจรดบริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งในบันทึกของซือหม่าเชียน (Si Ma Qian) ก็เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “เยว่”ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีชนพื้นเมืองทางใต้ที่เรียกว่า “ไป๋เยว่”(Bai Yue) หรือพวกเยว่ร้อยเผ่าที่อยู่ทางภาคใต้ ใน มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกว่างตง มณฑลกว่างซี มณฑลกุ้ยโจว มณฑลหยุนหนาน และในประเทศเวียดนามตอนเหนือ
นอกจากเรือที่ใช้แล่นในแม่น้ำแล้วพวก “ไป๋เยว่” กลุ่มซีโอว (Xi Ou) และลั่วเยว่ (Luo Yue) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์สาขาหนึ่งของไป๋เยว่ ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลด้วย รู้จักการสร้างเรือออกทะเลที่เมืองท่ากุ้ยกั่ง (Gui Gang Port) อ่าวหลัวปั๋ว (Luobowan) ได้พบกลองมโหระทึกที่มีลายเรือเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าชนชาติเยว่รู้จักใช้ลำเรือคู่ (Catamaran) เดินทางออกสู่ทะเลแล้ว ในหนังสือ “เยว่เจวี๋ยซู”(Yue jue shu) ตอนที่ 2 กล่าวไว้ว่า “ชาวเยว่ใช้เรือฝั่ง(Fang,舫) หรือเรือสี่เหลี่ยม (Square boat) ในการสัญจรค้าขาย” คำว่าฟาง (Fang,方) ก็คือชื่อเรือฝั่ง(Fang,舫) ซึ่งเป็นชนิดของเรือที่ชาวเยว่ใช้ออกทะเลในยุคแรกเริ่ม ชาวเยว่ยังได้สร้างเรือสำริดโบราณอีกด้วย หนังสือหลิ่งว่ายไต้ต๋า (Ling wai dai da) อ้างจากหนังสือเจียวจื่อจี้ (Jiaozhi Ji) ว่า “ชาวเยว่หล่อสำริดเป็นเรือโป๋” (Bo,舶) เรือโป๋เป็นเรือออกทะเลขนาดใหญ่
จากงานเขียนของจื่อเยว่ (Zhi Yue) เรื่อง“ประวัติเศรษฐกิจของหลิ่งหนาน” (Lingnan jingji shihua) มีความเห็นว่า เทคโนโลยีการสร้างเรือในสมัยฮั่นมีพื้นฐานมาจากพัฒนาการต่อจากเรือใบที่มีลำเรือเป็นไม้ของสมัยราชวงศ์ฉิน ที่เป็นเรือใหญ่สองชั้นมีสิบพายหนึ่งกรรเชียง เรือใหญ่สองชั้นสามารถล่องไกลไปในทะเลได้และบนลำเรือมีพื้นที่ในการบรรทุกน้ำจืดและอาหารแห้งเพื่อยังชีพอย่างจำกัด เรือจึงไม่สามารถแล่นออกไปได้ไกลนัก เพราะต้องมาเติมเสบียงให้ทันเวลา ดังนั้นการล่องเรือยังคงเลียบไปตามเส้นชายฝั่ง ประกอบกับลักษณะชายฝั่งแถบหลิ่งหนานเป็นชายหาดยาวที่คดเคี้ยวไปมา ไม่เหมือนกับแนวชายหาดแถบมณฑลเจ้อเจียงที่มีลักษณะทอดยาวและยากต่อการต้านกระแสลมและกระแสน้ำ การจอดแวะพักเรือตามท่าเลียบชายฝั่งทางทิศใต้จึงเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่า
การเดินเรือและการติดต่อค้าขายทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในจีนตอนใต้กับทางตอนเหนือของเวียดนามทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการติดต่อกับกลุ่มคนในเวียดนามและกลุ่มคนในชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ ซึ่งในปัจจุบันเป็นประเทศจีน แสดงให้เห็นว่าในบริเวณนี้มีการเดินเรือในระยะใกล้เพื่อติดต่อแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรมตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงสมัยราชวงศ์ฮั่นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการผสมผสานของกลุ่มคนจากมณฑลเสฉวน หยุนหนาน กวางซี กลุ่มคนเหล่านี้มีการแลกเปลี่ยนการทำสำริดและโลหะ โดยเฉพาะกลองสำริด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนามตอนเหนือ
จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่ากลองมโหระทึกที่บ้านโพน อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งปรากฏลวดลายเรือแบบเดียวกับที่พบบนกลองมโหระทึกในเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ น่าจะเป็นกลองมโหระทึกที่นำเข้ามาจากบริเวณดังกล่าวมากกว่าที่จะผลิตขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนในวัฒนธรรมกลองมโหระทึกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เวียดนามเหนือ และจีนตอนใต้ได้อย่างชัดเจน และคงส่งผลต่อวิถีวัฒนธรรม เทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาการทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญที่ต้องศึกษากันต่อไป
ข้อมูล นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ
อ้างอิง
-Zhao Ming long赵明龙(พรพรรณ จันทโรนานนท์ แปล), เหอผู่(เป๋ยไห่)คือท่าเรือใหญ่สุดจุดเริ่มต้นของเส้นทางแพรไหมทางทะเลแห่งแรกของจีน (สถาบันไทย-จีนศึกษา, 2002 )
-Erica Fox Brindley, Ancient China and The Yue (Cambridge: University Printing House, 2015)

(จำนวนผู้เข้าชม 1699 ครั้ง)