...

✦ เตาถลุงเหล็กโบราณ : หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ✦
✦ เตาถลุงเหล็กโบราณ : หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ✦
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ได้ดำเนินงานโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองสรรคบุรี ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และสถาปัตยกรรมของโบราณสถานในเขตเมืองสรรคบุรี และนำกระบวนการศึกษาทางวิชาการโบราณคดีมาเป็นหลักในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และแปลความ เพื่ออธิบายความสำคัญและพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองสรรคบุรี ซึ่งความก้าวหน้าของการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน คณะทำงานได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่โบราณสถานสำคัญหรือพื้นที่แหล่งที่สามารถแสดงลำดับพัฒนาการของเมืองสรรคบุรีได้ จำนวน 6แห่ง ในพื้นที่ วัดโตนดหลาย, วัดท่าเสา (ร้าง), วัดวิหารทอง, โรงเรียนคุรุประชาสรรค์, วัดพระแก้ว และวัดสนามไชย (ร้าง) ซึ่งข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่น่าสนใจ คือ หลุมขุดค้นTP.5 ในพื้นที่โรงเรียนคุรุประชาสรรค์ ตำบล แพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท สามารถนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นโดยสรุปดังนี้
หลุมขุดค้น TP.5 มีขนาด 3x3 เมตร การขุดค้นทางโบราณคดีลึกจากระดับผิวดินลงไปประมาณ 2 เมตร พบหลักฐานโดยสรุปดังนี้
ในระดับชั้นผิวดิน (0-50cm.dt.) ไปจนถึงระดับชั้นดินสมมติที่ 7 (140-150 cm.dt.) เป็นชั้นดินถมหน้าดินถูกรบกวนจากกิจกรรมการใช้เป็นพื้นที่เป็นแปลงเกษตรกรรมของโรงเรียนในปัจจุบัน ลักษณะเนื้อดินเป็นดินร่วนสีน้ำตาล พบโบราณวัตถุ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน ชิ้นส่วนกระเบื้องดินเผา ชิ้นส่วนอิฐ และวัตถุปัจจุบันร่วมด้วย เช่น เศษผ้า ปืนของเล่น ชิ้นส่วนรองเท้า ซองลูกอม ฝาขวด เป็นต้น
...
ในระดับชั้นดินสมมติที่ 7-16 (140-250 cm.dt.) เป็นชั้นดินทางวัฒนธรรมลักษณะเนื้อดินเป็นดินร่วนสีน้ำตาล-เทา ในชั้นดินนี้บริเวณเกือบกึ่งกลางหลุมขุดค้น ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถลุงโลหะโดยตั้งแต่ระดับชั้นดินสมมติที่ 7-14 (230-240 cm.dt.) ขุดค้นพบเตาถลุงเหล็กทำด้วยดินเหนียวเป็นเตามีผนังสูง (Shaft Furnce) สำหรับบรรจุแร่และถ่านในการถลุง ขนาดความกว้าง 54 เซนติเมตร ยาว 57 เซนติเมตร สูงประมาณ 26 เซนติเมตร ด้านข้างเตาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือส่วนล่างมีปล่องเตาสำหรับหุ้มปลายท่อจากที่สูบลมต่ออยู่ ภายในเตาพบว่ามีชั้นดินร่วนผสมปะปนอยู่กับถ่านจำนวนมาก ในการศึกษารูปแบบเทคโนโลยีการถลุงเหล็กสมัยโบราณ พบว่าสินแร่เหล็กที่นำมาใช้ในการถลุงมาจากเม็ดแร่หรือก้อนแร่เหล็กที่มีอยู่ในชั้นศิลาแลง นำไปเตรียมแร่และแต่งแร่ให้มีขนาดที่เหมาะสมคลุกเคล้ากับถ่านไม้ขนาด 1.5-2.0 เซนติเมตร และถลุงตามกระบวนการทางตรง (Direct Process) ใช้ความร้อนในการถลุงอุณหภูมิไม่เกิน 1,300 องศาเซลเซียส ให้เป็นก้อนเหล็กเกือบบริสุทธิ์ (bloom) ในบริเวณพื้นที่ใช้งานรอบเตาถลุงเหล็ก จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบเบ้าดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร ตะกรันโลหะ (Slag) และท่อลมดินเผาขนาดความกว้างประมาณ 7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ส่วนปลายมีร่องรอยการถูกความร้อนจนกลายเป็นสีเทา เนื่องจากไม่พบร่องรอยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตีเหล็กเพื่อผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ดังนั้นในบริเวณนี้อาจใช้สำหรับกิจกรรมการถลุงเหล็ก หรือผลิตก้อนเหล็กอ่อน (wrought iron ingot) เท่านั้น
...
ในระดับที่อยู่ถัดจากชั้นเตาถลุงเหล็กลงไปจากการขุดค้นพบร่องรอยของหลุมเสาไม้ จำนวน 2 หลุม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 และ 18 เซนติเมตร และบริเวณเกือบกึ่งกลางหลุมขุดค้นพบร่องรอยคล้ายเป็นหลุมที่ถูกขุดขึ้น ภายในหลุมพบโบราณวัตถุที่มีความหลากหลายในรูปแบบการใช้สอย และอายุสมัย ที่สำคัญได้แก่ ประติมากรรมดินเผารูปนางอัปสรพนมมือ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องประดับส่วนหลังคาสถาปัตยกรรม ลักษณะใบหน้าเป็นรูปค่อนข้างเหลี่ยม คิ้วเป็นสันนูนจมูกใหญ่ ปากกว้างกว้างอมยิ้มเล็กน้อย ใบหูค่อนข้างหนามีติ่งยาวประดับด้วยตุ้มหูรูปดอกไม้ขอบด้านนอกโค้งหยักเป็นรูปคล้ายกะจังรวน สวมเครื่องประดับศีรษะมีกะบังหน้าแบบที่เรียกว่า “เทริด” ศิลปะลพบุรี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ประติมากรรมดินเผารูปนางอัปสรพนมมือชิ้นนี้ มีรูปแบบคล้ายกับประติมากรรมดินเผารูปใบหน้าบุคคลที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี และมีรูปแบบใกล้เคียงกับกระเบื้องเชิงชายที่พบจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ในระดับชั้นดินเดียวกันนี้ยังพบโบราณวัตถุประเภทสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาบ้านบางปูน(พุทธศตวรรษที่ (๑๘-๒๑) ชิ้นส่วนเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาสุโขทัย และแหล่งเตาศรีสัชนาลัย (พุทธศตวรรษที ๑๘-๒๑) ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียว สมัยราชวงศ์หยวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) และราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒) ชิ้นส่วนลูกกระพรวนสำริด หินบด เศษอิฐชิ้นส่วนเขาสัตว์ตระกูลกวาง และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์
...
จากข้อมูลการดำเนินงานทางโบราณคดีภาคสนามในเบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่าบริเวณหลุมขุดค้น TP.5 นี้พบร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ใน ๒ ช่วงระยะเวลา คือ ในชั้นวัฒนธรรมที่ 1 (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑) เป็นหลุมที่ฝังกลบวัตถุเหลือทิ้งหรือไม่ต้องการใช้งานและชั้นวัฒนธรรมที่ 2 (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๔) เป็นชั้นที่อยู่อาศัยของคนในอดีต ซึ่งพบร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับการโลหกรรมการถลุงเหล็กสมัยโบราณ อย่างไรก็ตามข้อมูลในเบื้องต้นนี้เป็นข้อสังเกตจากการดำเนินงานในภาคสนาม ซึ่งจะต้องดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ จัดจำแนกประเภทหลักฐาน และหาความสัมพันธ์ของหลักฐานที่พบ เพื่อนำเสนอรายละเอียดข้อมูลเป็นภาพรวมสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คน และความสำคัญของเมืองสรรคบุรีในอดีตต่อไป
...
เรียบเรียงโดย: นางสาวพิชญาภา ปินตาเสน ผู้ช่วยนักโบราณคดี
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 1114 ครั้ง)