...

เรื่อง วันพืชมงคล
เรื่อง วันพืชมงคล
พระราชพิธีเดือนหก พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล การพระราชพิธีดังกล่าวเป็น ๒ ชื่อ แต่เป็นพิธีเดียวกัน คือในวันแรกเป็นวันพระราชพิธีพืชมงคล ทำขวัญพืชพรรณต่างๆ มีข้าวเปลือก เป็นต้น จรดพระนังคัลเป็นพิธีเวลาเช้าคือลงมือไถ ถ้าจะแบ่งเป็นคนละพิธีก็ได้ ด้วยพิธีพืชมงคลไม่ได้ทำแต่ในเวลาค่ำวันสวดมนต์ รุ่งขึ้นเช้าก็ยังมีการเลี้ยงพระต่อไปอีก การจรดพระนังคัลก็ไม่ได้ทำแต่วันซึ่งลงมือแรกนา กล่าวคือ พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ ทำที่ท้องสนามหลวงในพระนคร พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ ทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร พิธีทั้งสองนั้นก็นับว่าทำพร้อมกันในคืนวันเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อติดกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล
ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ ต้องหาฤกษ์วิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ คือ
(๑) ฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องวันผีเพลียอย่างหนึ่ง ดิถีซึ่งนับผีเพลียนั้นข้างขึ้นคือ ๑ ๕ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๕ ข้างแรม ๑ ๕ ๖ ๗ ๘ ๑๓ ๑๔ เป็นใช้ไม่ได้
(๒) ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง คือ ดิถีตาว่างซึ่งไม่เป็นผีเพลียนั่นเอง
(๓) ให้บุรณฤกษ์อย่างหนึ่ง คือ ๒ ๔ ๕ ๖ ๘ ๑๑ ๑๔ ๑๗ ๒๒ ๒๔ ๒๖ ๒๗
(๔) ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง คือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์
การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ สำหรับในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์พระนครทั้งปวง
ที่มา: จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร: คลังวิทยา, ๒๕๐๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 585 ครั้ง)