...

การก่อเจดีย์ทราย
๑. การก่อเจดีย์ทราย
ในอดีตการสร้างวัดของคนล้านนาเป็นการจำลองโลกตามคติไตรภูมิ กล่าวคือ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเปรียบเสมือนเขาสิเนโรบรรพตซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ล้อมรอบวิหารด้วยทรายขาวสะอาดที่เป็นเสมือนมหาสมุทรสีทันดร ดังนั้น ชาวล้านนาจึงมีความเชื่อว่าทุกครั้งที่เหยียบย่างเข้าไปในวัดแล้วมีทรายติดเท้าออกมาด้วยนั้นเป็นบาป ประกอบกับคัมภีร์ใบลานธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ได้กล่าวว่าผู้ใดได้ถวายทรายหรือขนทรายเข้าวัดแล้วจะได้รับอานิสงส์ผลบุญให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนนาน พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมากมาย การขนทรายเข้าวัดจึงเป็นกุสโลบายของทางวัดให้ชาวบ้านนำทรายมาทดแทนทรายที่เสียไปในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อชาวบ้านขนทรายเข้ามามากขึ้นจึงมีการสร้างเจดีย์ทราย โดยการนำไม้ไผ่สานมาขดให้เป็นวงกลม แล้วนำทรายมาถมให้เต็มเป็นชั้น ๆ เวียนขึ้นไปจนทรงคล้ายกับเจดีย์ เรียกว่า วาลุกเจดีย์ (อ่านว่า วา – ลุ – กะ เจดีย์) หรือเจดีย์ทราย อาจสร้างเป็นเจดีย์ทรายขนาดเล็กหลายๆ องค์ หรือเจดีย์ทรายองค์ใหญ่องค์เดียวก็ได้ แล้วจึงทำการถวายให้กับวัดในคราวเดียว

ภาพสาวงามก่อเจดีย์ทรายในพุทธสถานเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ 2496
ถ่ายภาพโดยคุณบุญเสริม สาตราภัย

ที่มาภาพ: ฐานข้อมูลออนไลน์ภาพล้านนาในอดีต จัดทำโดยสำนักหอสมุด และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คติการถวายเจดีย์ทรายมีปรากฏในคัมภีร์ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย กล่าวถึงพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าโคตมะนั้น พระองค์ได้เกิดเป็นชายคนหนึ่งนามว่าติสสะ เมื่อนายติสสะพบลำธารที่มีทรายสีขาวสะอาดจึงก่อเจดีย์ทรายขึ้น แล้วฉีกเสื้อของตนมาทำเป็นธงติดกับไม้ปักไว้บนยอดเจดีย์ และตั้งจิตอธิษฐานให้ตนได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า ต่อมาภายหลังชาวล้านนาได้ยึดหลักปฏิบัติตามตำนานนี้ โดยการถวายตุงไส้หมูหรือตุงสิบสองนักษัตรปักไว้กับกองเจดีย์ทรายด้วย โดยเชื่อว่าอานิสงส์ในการถวายเจดีย์ทรายจะช่วยให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือเกิดในภพภูมิที่ดีบนสวรรค์ เป็นต้น

ภาพสาวๆเมืองเชียงใหม่พากันขนทรายจากแม่น้ำปิง ที่เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันออกเพื่อนำไปก่อเจดีย์ทรายตามวัดต่างๆ เป็นการสร้างการกุศลในวันสงกรานต์ เมื่อ พ.ศ 2493
ถ่ายภาพโดยคุณบุญเสริม สาตราภัย

ที่มาภาพ: ฐานข้อมูลออนไลน์ภาพล้านนาในอดีต จัดทำโดย สำนักหอสมุด และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นปัจจุบันการถวายเจดีย์ทรายพบได้น้อยลง เนื่องจากวัดได้ดัดแปลงจากพื้นทรายรอบวิหารให้เป็นพื้นคอนกรีตหรืออิฐบล็อกแทน อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่ที่ยังมีการถวายเจดีย์ทรายอยู่ก็มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการคืนทรายให้กับวัดเป็นการถวายทรายสำหรับการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ภายในวัดไป

ที่มาภาพ: www.loupiote.com. Sand Pagoda - Songkran festival (Thai New Year) in Chiang Mai (Thailand)





(จำนวนผู้เข้าชม 6656 ครั้ง)