ตามรอย"ช้างทรงเจ้าตาก" บอกเล่าจากเอกสารประวัติศาสตร์
ตามรอย"ช้างทรงเจ้าตาก" บอกเล่าจากเอกสารประวัติศาสตร์ จากประเด็นมีผู้กล่าวอ้างว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงช้างไม่เป็น จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่ว และมีเพจผู้ไม่เห็นด้วยกับข่าวดังกล่าวพร้อมอ้างอิงถึงภาพวาด"สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงช้างพังประตูเมืองจันทบุรี"ซึ่งเครือข่ายวาดมอบให้และติดตั้งอยู่ภายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ผู้เขียนในฐานะคนพื้นที่ในเหตุการณ์สำคัญระดับชาติกว่า 253 ปีมาแล้ว จึงต้องหาเอกสารข้อมูลประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิมาบอกเล่ากัน จากการค้นคว้าพบว่า ในหนังสืออ้างอิง "ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก"ที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 ซึ่งหนังสือชุดดังกล่าวนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ"พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย"ได้ทรงริเริ่มรวบรวมชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2457 และกรมศิลปากรได้สืบสานต่อมา เรื่องช้างทรงของเจ้าตากตอนมาตีเมืองจันทบุรี ถูกบันทึกไว้ในตอน :แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ สงครามครั้งที่24 คราวเสียกรุงฯครั้งหลัง ปีกุน พ.ศ.2310 หน้า217-250 ของเล่มที่ 11 ขอตัดตอนเฉพาะที่เกี่ยวข้องเรื่องช้างทรงเจ้าตากความว่า ...จึงเรียกนายทัพนายกองมาสั่งว่า เราจะตีเมืองจันทบุรี ในคำ่วันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือแลต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว... ...ครั้นเวลาค่ำเจ้าตากจึงกะหน้าที่ให้ทหารไทยจีนลอบไปซุ่มอยู่มิให้ชาวเมืองรู้ตัว สั่งให้คอยฟังเสียงปืนสัญญาเข้าปล้นเมืองให้พร้อมกัน... ...ครั้นตระเตรียมพร้อมเสร็จพอได้ฤกษ์เวลาดึก 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ทรงคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาบอกพวกทหารให้เข้าปล้นพร้อมกันทุกหน้าที่ ส่วนเจ้าตากก็ขับช้างที่นั่งเข้าพังประตูเมือง ขณะนั้นพวกชาวเมืองซึ่งรักษาหน้าที่ยิงปืนใหญ่น้อยระดมมาเป็นอันมาก นายท้ายช้างที่นั่งเห็นลูกปืนพวกชาวเมืองหนานัก เกรงจะมาถูกเจ้าตากจึงเกี่ยวช้างที่นั่งให้ถอยออกมา เจ้าตากขัดพระทัยชักพระแสงหันมาจะฟัน นายท้ายช้างตกใจร้องทูลขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างกลับเข้ารื้อบานประตูเมืองพังลง ...เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้นั้น เป็นวันอาทิตย์ เดือน 7 ปีกุน พ.ศ.2310 เสียกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ 2 เดือน... จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความเชี่ยวชาญการรบยิ่งนัก สามารถทรงช้างและม้า ได้อย่างอาจหาญ ดังนั้นพระบรมราชานุสาวรีย์และภาพวาด ที่ปวงชนชาวไทยได้สร้างขึ้นต่อมาในภายหลังจึงมีทั้งประทับม้าและประทับหลังช้างให้พวกเราได้เห็นกันอย่างแพร่หลายอยู่หลายแห่ง ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ขอขอบคุณภาพจากwikipedia

(จำนวนผู้เข้าชม 2834 ครั้ง)