พระมาลัยที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
จำนวนผู้เข้าชม 3457

           พระมาลัย คือ พระอรหันตสาวกในพระพุทธศาสนา ปรากฏในคัมภีร์พระมาลัยสูตร กล่าวถึง พระอรหันต์ชาวลังการูปหนึ่งนามว่า “พระมาลัยเทวเถระ” อาศัยอยู่บ้านกัมโพช แคว้นโลหะชนบท ทวีปลังกา เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ สามารถไปยังนรกและสวรรค์ เพื่อนำความที่พบเห็นมาเทศนาแก่มนุษย์ ทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
          ความเชื่อเรื่องพระมาลัยสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศพม่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางล้านนาและสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ต่อมาได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเห็นได้จากการแต่งวรรณกรรมพระมาลัย เช่น คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลาย ในภาคเหนือ คัมภีร์มาลัยหมื่น มาลัยแสน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระมาลัยคำหลวง พระมาลัยกลอนสวด นิทานพระมาลัย ในภาคกลาง และ พระมาลัยคำกาพย์ในภาคใต้
          จากคติความเชื่อเรื่องพระมาลัยจึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานประติมากรรมและจิตรกรรมต่าง ๆ ซึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ได้จัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระมาลัย ได้แก่ สมุดไทย เรื่อง พระมาลัย เขียนด้วยตัวอักษรขอม ภาษาบาลี ด้วยหมึกสีดำลงบนสมุดไทยขาว ศิลปะรัตนโกสินทร์ กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้รับมอบจากวัดราชพฤกษ์ศรัทธาราม และประติมากรรมรูปพระมาลัย ซึ่งเป็นรูปพระภิกษุ ครองจีวรลายดอกพิกุลห่มเฉียง นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว มือซ้ายอยู่ในลักษณะถือวัตถุ สันนิษฐานว่าถือตาลปัตรหรือพัด ศิลปะรัตนโกสินทร์ กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ พระครูวิมลวชิรคุณ เจ้าอาวาสวัดคูยาง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นผู้มอบให้ โดยลักษณะงานประติมากรรมเช่นนี้น่าจะมีความหมายถึงพระมาลัยเทศนาโปรดสัตว์ หรือพระมาลัยปางโปรดสัตว์ เนื่องจากตาลปัตรเป็นเครื่องหมายของการแสดงธรรม









--------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
--------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง เด่นดาว ศิลปานนท์. พระมาลัยในศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.