จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง “SOCIAL DISTANCINGสมัย 100 ปี”
จำนวนผู้เข้าชม 2360

          SOCIAL DISTANCING ในสมัยนี้ใช้ในสังคมเครือข่ายออนไลน์เพื่อการแจ้งข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงทั้งช่องทาง เฟสบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ ฯลฯโดยใช้อุปกรณ์ประเภทคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือและอื่น ๆ ที่อำนวยความสะดวก
          แต่เมื่อสมัย 100 ปีการสื่อสารประเภท SOCIAL DISTANCING จะอยู่ในแบบตราสาร ใบบอก หรืออย่างทันสมัยสุดคือ โทรเลข แต่ข้อจำกัดของโทรเลขคือส่งข้อความไม่ได้มากเท่าที่ควร การนำสารไปบอกในแต่ละเมืองอาจใช้เวลาหลายวันเนื่องจากการคมนาคม และระยะทาง ซึ่งต่างจากในสมัยนี้สามารถคลิกครั้งเดียวส่งข่าวสารกระจายไปได้ทั่วโลก แต่มีข้อดีว่าการติดต่อของโรคระบาดจะควบคุมได้ง่ายกว่าในสมัยนี้เช่นกันเพราะการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว สามารถลัดฟ้าไปมาหากันได้ภายในพริบตา
 




         SOCIAL DISTANCING การเพิ่มระยะห่างทางสังคม มีปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุว่า พ.ศ.2464 เกิดโรคชนิดหนึ่งในเมืองจันทบุรี เรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่” เหตุเกิดขึ้นครั้งแรกที่ตำบลตลาดและตำบลวัดใหม่ และชุกชุม ได้ติดต่อไปยังนักโทษของเรือนจำเป็นคราวเดียวกันถึง 25 คน รองอำมาตย์โท ขุนนรินทร์ประสาตร์ แพทย์ประจำจังหวัดจันทบุรี จึงได้กราบทูล อำมาตย์เอกหม่อมเจ้านพมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ความว่า “...ด้วยไข้หวัดใหญ่(อินพลูแวนซา) เกิดแก่นักโทษ...บัดนี้เห็นด้วยเกล้าว่าควรจัดการป้องกันราษฎรตามตำบลอำเภอต่าง ๆ เสียแต่ต้นมือ เพื่อโรคจะไม่รุกรามต่อไป 
          ซึ่งมีวิธีการ “ห้าม... ควร... ระวัง...หลีกเลี่ยง...”ตามประกาศของกรมควบคุมโรคเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ในสมัยนี้มีความคล้ายคลึงกับประกาศในสมัยร้อยปี ได้แก่ 
          1.มีคำสั่งให้จังหวัดประกาศให้ราษฎรทราบ 
          2.แนะนำให้ความรู้ถึงสาเหตุและการติดต่อของโรคชนิดนี้ 
          3.แนะนำวิธีการป้องกันและวิธีรักษา
 
         เหตุที่เกิดโรค ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดโดยพันธุไม้อย่างละเอียด เรียกว่าเชื้อโรคนี้ ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ได้เรียก”พันธุไม้อย่างละเอียด”ว่า ไวรัส และระบุว่าไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่เรียกว่า influenza virus              การติดต่อ
          1. โรคนี้ติดต่อทางลมหายใจ และทางปาก เชื้อโรคนี้ออกจากน้ำลายและน้ำมูกของคนที่ป่วยแล้วปลิวตามอากาศ เราหายใจเข้าไปหรือน้ำลาย น้ำมูก เข้าจมูกเรา จึงป่วยเป็นโรคนี้
          2.หรือจะพูดได้ว่าเชื้อโรคออกจากปากหรือจมูก คนที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วติดเรา (โรคโควิด-19 จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลายและน้ำมูกของผู้ป่วย เช่นกัน)
          การป้องกัน แพทย์สาธารณสุขเมืองจันทบุรี ได้แนะนำว่า
          1.ให้อำเภอประกาศให้ราษฎรทราบว่าถ้ามีเหตุจำเป็นจริง ๆ แล้วอย่าให้ราษฎรไปที่ตลาดจันทบุรี 2.ให้รักษาบ้านเรือนให้สะอาดเก็บกวาดสิ่งโสโครกออกเผา ปิดประตูหน้าต่างให้อากาศพัดไปมาได้สะดวก
          3.บำรุงร่างกายให้แข็งแรง เช่นระวังอย่าให้หิวและเหนื่อยเกินสมควร อย่าอดนอน
          4.จงนอนและทำงานในที่มีอากาศโปร่ง เมื่อนอนต้องห่มผ้าให้หน้าอกและท้องอุ่นอยู่เสมอ
          5.ออกกำลังกายในที่กลางแจ้งพอสมควรอย่าให้เหนื่อยเกินไป
          6.จงอยู่ในที่ ๆ มีอากาศโปร่ง อย่าอยู่ยัดเยียดกัน
          7.เมื่อกำลังเหนื่อยหรือมีเหงื่ออยู่หรือกำลังร้อนอย่าเพ่ออาบน้ำ ต้องปล่อยให้เหงื่อแห้งและหายร้อนหายเหนื่อย จึงอาบได้อย่านั่งให้ลมโกรกจนหนาวสะท้าน
          8.เวลานี้ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายเปล่าควรใส่เสื้อหรือห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ
          9.บำรุงธาตุให้ปรกติ อย่ารับประทานของเสาะท้อง หรือของที่ทำให้ท้องขึ้น เช่น ส้มเปรี้ยวต่าง ๆ ผักดิบผลไม้ดิบต่าง ๆ อาหารเผดร้อน และสุรา 10.การดูมโหรศพ ในเวลานี้ไม่ควรดู...
          11.เมื่อทราบว่าใครเป็นขึ้นแล้วไม่จำเป็นไม่ควรเยี่ยม
          12.อย่าเข้าใกล้ผู้ที่ไอหรือจามด้วยโรคนี้
          13.มือหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ใด้ถูกตัวคนป่วยแล้ว อย่าให้ถูกปากหรือจมูก เมื่อเวลารับประทานอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาด ของต่าง ๆ ก็ต้องทำให้สะอาดเช่นเดียวกัน
          14.อย่าใช้เครื่องใช้ต่าง ๆ ปนกับคนป่วย
          15.อย่านอนในห้องหรือเรือนที่มีคนป่วย
          16.เมื่อใครเป็นขึ้นมาแล้วเมื่อเวลาไอหรือจาม ต้องใช้ผ้าหรือผ้าเช็ดหน้าปิดจมูกและปาก ถ้าไม่มีผ้าเมื่อเวลาไอแลจามต้องก้มหน้าลง
          17.อย่าให้คนป่วยถ่มน้ำลายน้ำมูกลงบนพื้นบ้าน ต้องให้ถ่มน้ำลายน้ำมูกลงในกระโถน ในกระโถนต้องใช้ยาแซนนิตาสใส่ ถ้าไม่มีใช้น้ำมันก๊าศใส่แทน เมื่อถึงเวลาแล้วนำไปเทเผาเสียทุกครั้ง ห้ามไม่ให้เทบนพื้นดินหรือในน้ำ
          วิธีการรักษา โดยสรุป
          1.ถ้ามีอาการตัวร้อน คัดจมูก เมื่อยและท้องผูก ให้รับประทานยาถ่าย และกินยาแก้ไข้ควินิน
          2.คนป่วยห้ามอาบน้ำเย็นและตากลม
          3.ให้คนป่วยรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
          4.เมื่อหายป่วยแล้วห้ามรับประทานของแสลง เช่นกล้วย ส้มต่าง ๆ และของเมือกมัน หวาน เช่นกะทิ มันหมู น้ำมันต่าง ๆ เป็นต้น และให้อำเภอรายงานคนป่วย คนตายโดยเร็ว และต่อเนื่องทุกสัปดาห์



          จะเห็นได้ว่าการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อร้อยปี สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในปัจจุบันได้อย่างดี และจากมาตรการป้องกันอันเข้มข้นของรัฐบาล ณ ขณะนี้ และหวังว่าเรื่อง “SOCIAL DISTANCING" ของประเทศไทยที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะช่วยกระจายความรู้ความเข้าใจให้"ตระหนัก"อย่างถ่องแท้และโปรดอย่า"ตระหนก"จนเกินเหตุ เราจะก้าวผ่านโรคร้ายนี้ไปอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีตได้เช่นกัน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน

ผู้เขียน นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี

อ้างอิง
-เอกสารจดหมายเหตุ ชุด (13) มท2.3.1/14 เรื่อง ราษฎรป่วยเปนไข้หวัดใหญ่ (15-22 ม.ย.2464) -ประเสริฐ เชื้อวรากุล .(2553).ไข้หวัดใหญ่(Influenza).วันที่ค้นข้อมูล 31 มีนาคม 2563.เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sidoct…/e-pl/articledetail.asp…

ที่มาของบทความ https://www.facebook.com/102943834583364/posts/146054520272295/