...

กรมศิลปากรจัดบรรยายทางวิชาการ เรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานในพิธีเปิดการบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “รามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”ณ โรงละครแห่งชาติกรุงเทพฯ โดยมีนักวิชาการ ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยาย จำนวนกว่า ๕๐๐ คน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ น.

            สืบเนื่องจากคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ  มีมติเห็นชอบให้ประกาศยกย่องบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์”พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เป็น “วรรณคดีแห่งชาติ”  เนื่องจากรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของไทยมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  และเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี้ ถือเป็นหนังสือรามเกียรติ์ฉบับสมบูรณ์ที่ทรงคุณค่าเปี่ยมด้วยอรรถรสทางวรรณศิลป์  และเป็นหลักในการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องรามเกียรติ์ของไทยกับมหากาพย์รามายณะฉบับต่าง ๆ ของอินเดีย ตลอดจนเรื่องรามายณะในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างดี 

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ในนามคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ จึงได้กำหนดจัดการบรรยายทางวิชาการเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประกอบการสาธิตและการแสดงโขนขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และพระปรีชาญาณอันล้ำเลิศที่ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์และด้านนาฏยศาสตร์ ซึ่งการบรรยายมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย ช่วงเช้า การบรรยาย เรื่อง “ความเป็นเอกภาพในบทละครเรื่องรามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์, การบรรยาย เรื่อง “ความดีความงามในบทละครเรื่องรามเกียรติ์

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” โดยศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต  และการบรรยาย เรื่อง “จากหนุมานถึง ‘หนุแมน’: การถ่ายทอดวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ในยุค Gen Z”  โดย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์ และช่วงบ่ายเป็นการบรรยาย เรื่อง “สิ่งควรรู้ก่อนดูโขน”และสาธิตการแสดงท่ารำ โดย นายประสาท ทองอร่าม ผู้ชำนาญการด้านนาฏศิลป์ไทย  ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก สำนักการสังคีต พร้อมชมการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด “รามาวตาร”จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

กรมศิลปากรหวังว่า การบรรยายในครั้งนี้จะเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจแก่สาธารณชนและวงวิชาการวรรณคดีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการสร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าของวรรณคดีไทย และจะได้ร่วมสืบสานมรดกวัฒนธรรมแขนงนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไป

(จำนวนผู้เข้าชม 5839 ครั้ง)